กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 29 เมษายน 2568 แพทย์หญิงทิพา ไกรลาศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา มอบหมายให้นางสุจิตรา สุมนนอก รองผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน โดยกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา ห้องย่อยที่ 2 การจัดการสิ่งปฏิกูลป้องกันปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งการจัดการสิ่งปฏิกูลเป็นประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับจังหวัดใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการ 2) การจัดการสิ่งปฏิกูลป้องกันปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี 3) วัดเป็นฐานชุมชนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน NCDs โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ต้นแบบ และพื้นที่เสี่ยงต่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดเห็นเป็นข้อเสนอเชิงประเด็นต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน จังหวัดนครราชสีมา ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ในประเด็นการจัดการสิ่งปฏิกูลป้องกันปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีที่มีการระดมความคิดเห็น ปรึกษาหารือ นำเสนอข้อมูล โดยที่ประชุมมีข้อเสนอเชิงนโยบายดังนี้
ข้อ 1 คณะกรรมการกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยจังหวัด จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการสิ่งปฏิกูลภายใต้กลยุทธ์ แปลงขี้เป็นเงินจังหวัดนครราชสีมา และขับเคลื่อนให้เป็นวาระจังหวัด (1 อำเภอต่อ 1 บ่อบำบัด)
ข้อ 2 สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีรวมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างมีส่วนร่วม โดยแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยง และถอดบทเรียนพื้นที่ที่ดำเนินการนำสู่การพัฒนาการจัดการต้นแบบ ทั้งระบบจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งปฏิกูล
ข้อ 3 หน่วยงาน อปท.(เทศบาล/อบต.) มีข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เป็นปัจจุบัน มีแผนปฏิบัติการและงบประมาณ
ข้อ 4 สมัชชาสุขภาพจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกลไกหลักในการสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
1) พัฒนาแนวทางความร่วมมือในการจัดการสิ่งปฏิกูล ในระดับชุมชน ท้องถิ่น
2) มีแผนความร่วมมือในการถอดบทเรียนพื้นที่ ที่ดำเนินการแล้ว สู่การพัฒนาต้นแบบการจัดการสิ่งปฏิกูลทั้งระบบ ได้แก่ จัดการขยะ น้ำเสีย สิ่งปฏิกูล และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
3) มีการจัดทำแผนงบประมาณที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ