คุณกำลังมองหาอะไร?

ศู

ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กลุ่มพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก ศอ.9 ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ถอดบทเรียนความสำเร็จและยกระดับ Practice สู่ Best Practice โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

29.04.2568
4
0
แชร์
29
เมษายน
2568

วันที่ 28 – 30 เมษายน 2568 กลุ่มพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียนความสำเร็จและยกระดับ Practice สู่ Best Practice โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ 2568 – 2569 โดยมีนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เป็นประธานในพิธี แพทย์หญิงทิพา ไกรลาศ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา บรรยายสถานการณ์และความเป็นมาของโครงการ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี/สถานีอนามัยพระราชทานนาม หรือผู้แทน พยาบาลวิชาชีพหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน ครูผู้ดูแลเด็ก และทีมพัฒนาเด็กและครอบครัว (CFT) จำนวน 9 แห่ง และเจ้าหน้าที่จากศูนย์อนามัยที่ ๙ นครราชสีมาและสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย รวมจำนวน 50 คน ณ ห้องประชุมยุคลธร โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยประสบปัญหา “เด็กเกิดน้อย และประสบปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ปี พ.ศ2567 มีจำนวนการเกิด 461,421 ราย จำนวนการตาย 571,646 ราย แสดงให้เห็นว่าอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิดมากถึง 110,025 ราย ส่งผลให้ TFR (Total Fertility Rate) ของไทยปี 2567 ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียง 1.0 ต่ำกว่าระดับทดแทนพ่อและแม่ที่ 2.1 ถึงกว่าเท่าตัว และต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือทุนมนุษย์ (Human capital) จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต ดังนั้นการพัฒนาเด็กไทยเพื่อให้สอดรับกับนิยามของคนไทยในศตวรรษที่ 21 ต้องเริ่มในช่วงเวลาที่เรียกว่า 1,000 วันแรกของชีวิต เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ และตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด (270 วัน) รวมกับช่วงเวลาตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ 2 ปีบริบูรณ์ (730 วัน) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต มูลนิธิสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มีการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และสอดคล้องกับกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา โดยกระบวนการบูรณาการ 4 กระทรวงหลัก (มหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ) โดยจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2560 โดยเขตสุขภาพที่ 9 เป็นจุดเริ่มต้น ต่อมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับเป็นนโยบายของกรมอนามัย และมีผลให้ดำเนินการทั้ง 13 เขตสุขภาพ ภายใต้ชื่อ “มหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต” กำหนดเป็นนโยบายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นทางมูลนิธิฯ รวมกับศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา จึงได้มีการประชุมดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นการถอดบทเรียนรูปแบบและความสำเร็จการดำเนินงานโครงการฯ ยกระดับบริการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเพื่อขยายให้กับพื้นที่อื่นต่อไป

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน